นับจำนวนผู้เข้าชม(counter)

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติพันท้ายนรสิงห์


พันท้ายนรสิงห์ มีนามเดิมว่า สิงห์ แต่ก่อนท่านก็เป็นนักมวยที่เก่งมากและก็เคยขึ้นชกกับพระเจ้าเสือมาแล้ว แต่ว่าเสมอกัน พระเจ้าเสือรู้สึกประทับใจจึงให้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก แล้วเลื่อนขึ้นมาเป็นราชองครักษ์


พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) ได้รับ ยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต


เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ปรากฏ อยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๒ สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่๘ ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ด ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย มีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย พันท้ายนรสิงห์เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองอ่างทอง การเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรีในครั้งนี้ เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขามคลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวังแต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ


พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่า ความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสียจึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ตัดศีรษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดินและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป พระองค์ทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน


แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๘ จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฎิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล แล้วทรงพระราชดำริว่าคลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวกต่อการเดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง สมควรจะขุดลัดตัดตรง เมื่อขุดเสร็จจึงได้รับพระราชทานนามว่า "คลองสนามไชย" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "คลองมหาชัย"ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้น อยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบๆ ศาลไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น