นับจำนวนผู้เข้าชม(counter)

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติจังหวัดนครราชสีมา


ประวัติศาสตร์
[แก้] สมัยก่อนอยุธยา
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มีชุมชนโบราณซึ่งเป็นร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ต่อเนื่องมาถึงยุคโลหะกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ ชุมชนบ้านปราสาท และ แหล่งภาพเขียนสีเขาจันท์งาม ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว

ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ ได้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนครมีการสร้าง เมืองโคราช หรือ นครราช อยู่ในบริเวณเดียวกัน และ มีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญของขอมในบริเวณนี้

มีผู้เสนอว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่ เมืองนครราช คือเมืองเดียวกันกับเมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองพระนครหลายประการ นอกจากนี้รูปสลักกองทัพชาวสยามบนระเบียงด้านหนึ่งของ นครวัด อาจเป็นชาวสยามจากลุ่มแม่น้ำมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครราช และยังมีการกล่าวถึงเมืองนครราชสีมาในพงศาวดารของกัมพูชาหลายครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีมุมมองอีกด้านหนึ่งก็ว่า นครราชสีมา นั้นเป็นคำไทยเป็นคำใหม่ แยกเป็นคำได้คือ นคร, ราช และ สีมา หมายความว่า "เมืองใหญ่อันเป็นขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักร" (ราช+สีมา) ส่วนคำว่า โคราช (สำเนียงถิ่น: โค-หฺราด , ไทยกลาง: โค-ราด, เขมร: โก-เรียช ) นั้น น่าจะเพี้ยนมาจาก นครราช (อ่านตามสำเนียงว่า คอน-หฺราด ซึ่งเป็นคำเรียกนครราชสีมาแบบย่อ ๆ ของชาวบ้าน) หรือ อังกอร์เรียจ ต่อมาลดรูปเป็น กอร์เรียจ และเพี้ยนเป็นโคราช ในที่สุด มากกว่าที่จะเพี้ยนมาจากโคราฆปุระ (Gorakhpur) ที่เป็นชื่อเมืองสมัยใหม่ในแคว้นเดียวกับเมืองอโยธยา (Ayodhya) ในอินเดีย ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[แก้] สมัยอยุธยา
เนื่องจากตั้งอยู่เป็นบริเวณที่เป็นชายขอบระหว่างรัฐที่มีอำนาจ เป็นรัฐกันชน นครราชสีมาจึงมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างรัฐอยู่เสมอ เช่น ระหว่างสยามกับกัมพูชา หรือ ระหว่างสยามกับล้านช้าง หรือ ในบางครั้งได้มีความพยายามที่จะตั้งตัวเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับผู้ใด เฉกเช่นเดียวกับบรรดาเมืองใหญ่อื่น ๆ

ในสมัยเจ้าสามพระยา อยุธยาสามารถเอาชนะกัมพูชาได้ รวมทั้งได้ทำการรวบรวมหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำมูลเข้ามาอยู่ในอำนาจ เมื่อพระบรมไตรโลกนาถได้สืบราชสมบัติต่อมามีการจัดระดับเมืองพระยามหานคร 8 หัวเมือง คือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มปรากฏชื่อเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองสำคัญในขอบขัณฑสีมา และได้ดำรงความสำคัญสืบต่อมาในประวัติศาสตร์อยุธยาและรัตนโกสินทร์

ตามระบบระบบบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย เจ้าเมืองนครราชสีมานับเป็นขุนนางระดับสูงมีบรรดาศักดิ์เป็น ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ มีศักดินา 10,000 ไร่

ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพเมืองนครราชสีมาได้ถูกมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการโจมตีเมืองเสียมราฐ และภาคตะวันออกของทะเลสาบจนได้ชัยชนะเหนือพระยาละแวก ในที่สุด


เมืองโคราชสีมาในแผนที่ของ ลา ลูแบร์ พ.ศ. 2236ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นว่าเป็นหัวเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านของอยุธยาติดกับพรมแดนลาว (เข้าใจว่าเลยลำสะแทด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลเหนือเมืองพิมายเป็นเขตแดนลาว เพราะมีบันทึกไว้ในนิราศหนองคาย สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปด้วย) จึงโปรดให้ย้ายเมืองเสมา มาสร้างเมืองใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยมี เดอ ลามาร์ นายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ ขนาดกว้าง 1,000 เมตร ความยาว 1,700 เมตร มีกำแพงเมืองขนาดใหญ่ มีป้อมค่ายหอรบ และพระราชทานนามว่า "เมืองนครราชสีมา" ทรงโปรดให้พระยายมราช (สังข์)เป็นเจ้าเมือง ในคราวเดียวกันกับที่แต่งตั้ง เจ้าพระยารามเดโช เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

เดอ ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนรายงานและบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ ว่า เมืองโคราชสีมา (Corazema) เป็นหัวเมืองใหญ่ 1 ใน 7 มณฑล ตั้งอยู่ติดชายแดนของราชอาณาจักรสยามกับเมืองลาว มีเมืองบริวาร 5 เมือง

ในช่วงเริ่มต้นสองปีแรกของแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชา พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมาที่แต่งตั้งโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้แข็งเมือง เนื่องจากไม่พอใจสมเด็จพระเพทราชา ที่ก่อการยึดอำนาจและเปลี่ยนราชวงศ์ จึงไม่ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาใช้เวลาปราบปรามโดยล้อมเมืองอยู่ประมาณ 2 ปี โดยใช้อุบายและกลยุทธปราบลงได้ พระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมาได้หนีไปพึ่ง เจ้าพระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งไม่พอใจสมเด็จพระเพทราชาเช่นกัน แต่ถูกกองทัพอยุธยาตามไปปราบปรามลงได้ นับแต่นั้นเมืองนครราชสีมาได้ถูกลดความสำคัญลงไม่เข้มแข็งดังแต่ก่อน

[แก้] สมัยกรุงธนบุรี
หลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย เจ้าเมืองพิมายและกรมหมื่นเทพพิพิธได้ตั้งตัวเป็นชุมนุมอิสระที่สำคัญชุมนุมหนึ่งแต่ถูกปราบลงโดยพระเจ้าตาก หลังจากนั้นเมืองนครราชสีมาได้เป็นฐานกำลังทางทหารและการปกครองที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด โดยในสมัยกรุงธนบุรีได้ถูกใช้เป็นฐานรวบรวมกำลังของ พระยาอภัยรณฤทธิ์ และ พระยาอนุชิตราชา ในการสงครามกับล้านช้างและกัมพูชา ในคราวสงครามตีเมืองเวียงจันทน์และได้พระแก้วมรกต หลวงยกกระบัตรเมืองพิมายอยู่ในทัพหน้า มีความดีความชอบจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยานครราชสีมา และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ในที่สุด ต่อมาพระยากำแหงสงคราม (บุญคง) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าตาก เมื่อเกิดการกบฏพระยาสรรค์ขึ้น พระสุริยอภัย กรรมการเมืองนครราชสีมา ได้นำกำลังทหารชาวนครราชสีมากลับเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ได้ก่อนที่ เจ้าพระยาจักรี และ เจ้าพระยาสุรสีห์ จะยกทัพกลับมาจากกัมพูชาและเกิดการเปลี่ยนแผ่นดิน ในครั้งนั้น พระยากำแหงสงคราม (บุญคง) เจ้าเมืองนครราชสีมา ที่นำทัพไปกัมพูชาพร้อมกับ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ถูกประหารชีวิตไปพร้อมกับเชื้อพระวงศ์ และขุนนางเดิมของพระเจ้าตาก จำนวนหนึ่ง และได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นพระยานครราชสีมา (เที่ยง) ผู้ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น)

[แก้] สมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองชั้นเอก กำกับตรวจตราเมืองประเทศราช ๓ เมือง คือ เวียงจันทน์ นครพนม จำปาศักดิ์ ให้รวมทั้งปกครองหัวเมืองเขมร พระยานครราชสีมา (เที่ยง) เป็นผู้สำเร็จราชการ และในรัชสมัยรัชกาลที่ 1นี้ ชาวเมืองนครราชสีมาได้น้อมเกล้าถวายช้างเผือก 2 เชือก

ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดกบฏ อ้ายสาเกียดโง้ง ที่จำปาศักดิ์ มีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา (เที่ยง) นำกองทัพไปปราบ แต่ เจ้าอนุวงศ์ เจ้าประเทศราชเวียงจันทน์ส่งเจ้าราชวงศ์ไปปราบกบฏได้เสร็จสิ้นก่อน และเจ้าราชวงศ์ได้ครองเมืองจำปาศักดิ์ต่อมา ต่อมาทองอิน เชื้อสายของพระเจ้าตาก และบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการต่อจากพระยานครราชสีมา (เที่ยง)


อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ฉวยโอกาสที่เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำกองทหารไปราชการต่างเมือง ยกทัพลาวมายึดครองเมืองนครราชสีมา และส่งกองทหารไปกวาดต้อนครอบครัวลาวถึงเขตเมืองสระบุรีก่อนที่จะถอยทัพเมื่อกองทัพสยามจากพระนครเริ่มรวมพลได้ทัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 ก่อนกองทัพลาวจะถอยทัพออกจากเมืองนครราชสีมา ไปยังทางเหนือเพื่อสมทบกับกองทัพของเจ้าสุทธิสาร โดยก่อนไป ได้ถอนเสาหลักเมืองออกเพื่อให้เป็นเมืองร้าง และเจ้าอนุวงศ์ได้สั่งการให้ทหารกองหลังรื้อกำแพงเมืองออก เผาประตูเมือง และสถานที่สำคัญๆในเมืองให้หมดสิ้น ให้ตัดต้นไม้ที่ให้ผลให้เหลือแต่ตอ ด้วยที่จะได้กลับมายึดเมืองนครราชสีมาได้สะดวกในภายหลัง ทำให้ต้นไม้ผลถูกตัดหมดสิ้น กำแพงเมืองจากมุมทิศอิสานและกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกถูกรื้อออกหมด กำแพงเมืองทางทิศใต้ถูกรื้อมาถึงด้านหลังวัดสระแก้ว ส่วนกำแพงเมืองจากมุมทิศอิสานและกำแพงเมืองทางทิศเหนือถูกรื้อ กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกถูกรื้อออก 1 ส่วนเหลือ 2 ส่วน ประตูเมืองถูกเผาบางส่วน 3 ประตูคือ ประตูเมืองทางทิศตะวันเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ชาวเมืองนครราชสีมาผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ได้ถูกกวาดต้อน ได้รับข่าวว่ากองทัพจากพระนครที่ส่งกำลังมาช่วยเหลือ กำลังจะเดินทัพมามาถึงทุ่งโพธิ์เตี้ยห่างจากเมืองนครราชสีมา 10 กม. ในอีกไม่นาน ทำให้กำลังทหารลาวกองหลังของเจ้าอนุวงศ์ที่กำลังทำรื้อกำแพง และเผาทำลายเมืองนครราชสีมาอยู่นั้น เกิดความหวาดกลัวและถอยทัพออกไป ทำให้เมืองนครราชสีมาถูกเผาทำลายลงไปเพียงบางส่วน ส่วนชาวเมืองนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น ได้รวมตัวกันต่อต้านกองทัพลาวของเจ้าอนุวงศ์ โดยมีพระยาปลัดนครราชสีมา พระยายกกระบัตร และ พระณรงค์สงคราม (มี) เป็นผู้นำในการรบ ณ ทุ่งสัมฤทธิ และผู้นำในการสนับสนุนช่วยเหลือการรบ คือ คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมา ต่อมากองทัพชาวนครราชสีมาได้ร่วมกับกองทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ในการรบครั้งต่อๆมาจนกระทั่งเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด ภายหลัง คุณหญิงโมได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวสุรนารี และ พระณรงค์สงครามได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาณรงค์สงคราม

ในการสงครามเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาณรงค์สงคราม ได้เป็นทัพหน้าของกองทัพที่นำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชานำพลชาวนครราชสีมาทำการรบอย่างกล้าหาญในสงครามกับเวียดนาม และสามารถรุกไปถึงเขตแดนเมืองไซ่ง่อน ก่อนที่จะต้องถอยทัพเนื่องจากกองทัพไทยพ่ายแพ้ในแนวรบด้านอื่น ต่อมาพระยาณรงค์สงคราม ได้เป็นนายทัพสำคัญในกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา จนสิ้นสุดสงคราม

เมื่อว่างเว้นจากสงคราม เมืองโคราชได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่กลายเป็นชุมทาง การค้าที่สำคัญ ในการติดต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง มีกองเกวียน กองคาราวานการค้า ขนาดใหญ่ผ่าน และ หยุดพักอยู่เสมอ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ได้เขียนว่า ตัวเมืองโคราชล้อมรอบด้วยกำแพงตั้งอยู่บนที่ราบสูง เดินทางจากบางกอกใช้เวลา 6 วันโดยไต่ระดับสูงขึ้นไปตามเส้นทาง ดงพญาไฟ ประชากรโคราชมีประมาณ 60,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนสยาม อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนเขมร ในตัวเมืองมีประชากร 7,000 คน มีคนจีนประมาณ 700 คน มีเหมืองแร่ทองแดง มีโรงหีบอ้อย สินค้า คือ ข้าว งาช้าง หนังสัตว์ เขาสัตว์ ไม้เต็ง อบเชย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยานครราชสีมา (เมฆ) บุตรของ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้เป็นแม่ทัพบกไปปราบจีนฮ่อที่เมืองหนองคาย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาเพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียง เป็นมณฑลแรกของประเทศ มีพระยานครราชสีมา (กาจ สิงหเสนี) บุตรเขยของพระยานครราชสีมา (เมฆ) เป็นผู้ว่าราชการคนแรก มีการจัดตั้งกองทหารประจำมณฑลตามหลักสากล มีการตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่นครราชสีมา มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา สระบุรี ดงพญาไฟ ไปสู่นครราชสีมา จนเปิดการเดินรถไฟหลวง สายกรุงเทพ - นครราชสีมา ได้สำเร็จ การคมนาคมติดต่อสะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก ในช่วงเดียวกันฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจเหนือคาบสมุทรอินโดจีน ทำให้สยามจำต้องเร่งการปรับปรุงพัฒนาราชอาณาจักรโดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการจัดตั้งการขนส่งปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ และ สายการบินระหว่าง กรุงเทพ - นครราชสีมา มีการขยายเส้นทางรถไฟสายอีสาน จนสามารถขยายเส้นทางการเดินรถไฟจาก นครราชสีมา ถึง ขอนแก่น และ นครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ในสมัยรัชกาลที่ 7

[แก้] ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดช ได้รวบรวมกองกำลังทหารจากมณฑลนครราชสีมาเป็นหลัก ร่วมกับ พันเอกพระยาศรีสิทธิ์สงคราม เพื่อทำการต่อสู้กับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาล้อมกรุงเทพฯ แต่เมื่อการต่อสู้ยืดเยื้อในที่สุดก็ต้องถอยทัพและประสบความพ่ายแพ้เนื่องจากมีกำลังที่น้อยกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ พันโทหลวงพิบูลสงครามผู้บัญชาการกองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาล มีอำนาจในการควบคุมกำลังทหารมากขึ้นส่งผลให้ได้อำนาจทางการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลทหารได้ในเวลาต่อมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารในสังกัด มณฑลทหารบกที่ 3 นครราชสีมา ได้ทำการร่วมรบในกรณีพิพาทอินโดจีน กองทัพไทยสามารถยึดดินแดนกลับคืนมาบางส่วน เป็นการชั่วคราว หลังสงครามยุติสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือสร้างถนนมิตรภาพ จาก สระบุรี ถึง นครราชสีมา ซึ่งเป็นทางหลวงที่ได้มาตรฐานดีที่สุดของประเทศในขณะนั้น

ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาได้ขอใช้นครราชสีมาเป็นฐานบัญชาการการรบและเป็นต้นกำเนิดของกองบิน 1 ฐานทัพหลักของกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2523 มีความพยายามรัฐประหารโดยกลุ่มทหารของ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา แต่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่นครราชสีมา กองกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 2 นำโดยพลตรี อาทิตย์ กำลังเอกได้เป็นกองกำลังหลักในการปราบกบฏลงได้ในที่สุด หลังจากนั้น อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 2 หลายท่านได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเวลาต่อมา

เนื่องจากความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ปัจจุบัน นครราชสีมา จึงได้กลายเป็นเมืองศูนย์ราชการที่สำคัญที่สุดรองจากกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเงิน การศึกษา การสาธารณสุข การวิจัย การคมนาคม และ การอุตสาหกรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองฐานกำลังรบหลักของกองทัพบก และกองทัพอากาศในปัจจุบัน เปรียบได้ว่าเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2553 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากฝนช่วงปลายฤดูตกหนักในบริเวณต้นแม่น้ำมูล นับเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

คริสต์มาส


คริสต์มาส (อังกฤษ: Christmas, Christ's mass, Xmas Nativity, Yuletide, Noel หรือ Winter Pascha) เป็นเทศกาลประจำปี ซึ่งในศาสนาคริสต์ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู[1][2] ในหลายประเทศ คริสต์มาสตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี (ในอาร์เมเนีย ตรงกับวันที่ 6 มกราคม และในนิกายออร์โธด็อกซ์บางส่วน ตรงกับวันที่ 7 มกราคม[3]) แต่ก็ไม่เป็นที่เชื่อกันว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเยซูจริง สำหรับสาเหตุที่เลือกวันดังกล่าวแต่เดิมมีอยู่หลายประเด็น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า วันนี้เป็นเวลาเก้าเดือนพอดีหลังจากนางมารีย์รับการประสูติของพระเยซู[4] ตรงกับเทศกาลบูชาสุริยเทพของโรมันโบราณ[5] หรือไม่ก็ตรงกับเหมายันในซีกโลกเหนือ[6] คริสต์มาสเป็นศูนย์กลางของคริสต์มาสและเทศกาลวันหยุด ในศาสนาคริสต์ คริสต์มาสเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันหยุดยาว 12 วัน[7]

ถึงแม้ว่าแต่เดิมคริสต์มาสจะเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองโดยคริสเตียน แต่ผู้ที่มิได้นับถือศาสนาคริสต์จำนวนมากก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองคริสต์มาสอย่างกว้างขวาง[8][9][10] และประเพณีที่ได้รับความนิยมของคริสต์มาสในปัจจุบันมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนศาสนาคริสต์หรือมาจากทางโลก ซึ่งรวมไปถึง การให้ของขวัญ เพลงคริสต์มาส การแลกเปลี่ยนการ์ดคริสต์มาส การตกแต่งโบสถ์คริสต์ การรับประทานอาหารมื้อพิเศษ และการตกแต่งอาคารต่าง ๆ ด้วยต้นคริสต์มาส มิสเซิลโท หรือฮอลลี่ เป็นต้น และยังมีตำนานอันเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเกี่ยวกับซานตาคลอส (หรือ ฟาเธอร์คริสต์มาส) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้ของขวัญแก่เด็ก ๆ ระหว่างเทศกาลคริสต์มาส[11]

เนื่องจากการให้ของขวัญและผลกระทบจากเทศกาลคริสต์มาสในอีกหลายแง่มุมได้ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งในกลุ่มคริสเตียนและผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียน วันดังกล่าวจึงกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญและช่วงเวลาสำหัรบสินค้าลดราคาสำหรับผู้ค้าปลีกและธุรกิจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของคริสต์มาสเป็นปัจจัยที่ได้เติบโตขึ้นอย่างคงที่ตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาในหลายภูมิภาคของโลก

ป่าชายเลน


ป่าชายเลน หรือ ป่าโกงกาง (อังกฤษ: mangrove forest หรือ intertidal forest) คือเป็นกลุ่มสังคมพืชซึ่งขึ้นอยู่ในเขตน้ำลงต่ำสุดและน้ำขึ้นสูงสุด บริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง สังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดหลายตระกูล และเป็นพวกที่มี ใบเขียวตลอดปี (evergreen species) ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora) เป็นไม้สำคัญและมีไม้ตระกูลอื่นบ้าง

ได้มีการค้นพบป่าประเภทรนี้มาตั้งแต่ เมื่อโคลัมบัส (Columbus) เดินทางมาบริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะคิวบา ต่อมา Sir Walter Raleigh (1494) ได้พบป่าชนิดเดียวกันนี้อยู่บริเวณปากแม่น้ำในประเทศตรินิแดด (Trinidad) และ กิอานา (Guiana)

คำว่า "mangrove" เป็นคำจากภาษาโปรตุเกสคำว่า "mangue" ซึ่งหมายถึงกลุ่มสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลดินเลน และใช้กันแพร่หลายในประเทศแถบลาตินอเมริกา ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็ใช้เรียกตามภาษาของตัวเอง เช่น ประเทศมาเลเซียใช้คำว่า "manggi-manggi" ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเรียกป่าชายเลนว่า "manglier" ส่วนภาษาไทยเรียกป่าชนิดนี้ว่า "ป่าชายเลน" หรือ "ป่าโกงกาง"

บริเวณที่พบป่าชายเลนโดยทั่วไป คือตามชายฝั่ง ทะเล บริเวณปากน้ำ อ่าว ทะเลสาบ และเกาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงของประเทศ ในแถบโซนร้อน (tropical region) ส่วนเขตเหนือหรือใต้โซนร้อน (sub-tropical region) จะพบป่าชายเลนอยู่บ้างแต่ไม่มาก โดยพื้นที่ที่พบป่าชายเลนเช่น ในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และ ไทย เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ป่าชายเลนของโลกทั้งหมดมีประมาณ 113,428,089 ไร่ อยู่ใน เขตร้อน 3 เขตใหญ่ คือ เขตร้อนแถบเอเชียพื้นที่ประมาณ 52,559,339 ไร่ หรือร้อยละ 46.4 ของป่าชายเลนทั้งหมด โดยประเทศอินโดนีเซียมีป่าชายเลนมากที่สุด ถึง 26,568,818 ไร่ สำหรับในเขตร้อนอเมริกามีพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดประมาณ 39,606,250 ไร่ หรือร้อยละ 34.9 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด ในเขตร้อนอเมริกาประเทศที่มีพื้นที่ โดยประเทศบราซิล มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 15,625,000 ไร่ รองจากอินโดนีเซีย ส่วนเขตร้อนอัฟริกามีพื้นที่ ป่าชายเลนน้อยที่สุดประมาณ 21,262,500 ไร่ หรือร้อยละ 18.7 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด โดยประเทศไนจีเรีย มีพื้นที่ป่าชายเลน 6,062,500 ไร่ มากที่สุดในโซนนี้

วิธีทำข้าวผัดปู


เครื่องปรุง
ข้าวสวย 5 ถ้วย
เนื้อปูกระป๋อง 2 กระป๋อง
กระเทียมกลีบใหญ่ 2 กลีบ
หัวหอมใหญ่ 1/4 หัว
ต้นหอม 3 ต้น
น้ำมันหอย 4 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ้วขาว (หรือน้ำปลา) 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
ไข่ไก่ 3 ฟอง

เครื่องเคียง
มะเขือเทศ 1 ลูก
มะนาว 1 ลูก
ผักกาดหอม 1 ต้น


วิธีทำ
1. ปลอกเปลือกหัวหอมใหญ่และกระเทียม ตัดก้านต้นหอม ล้างน้ำให้สะอาด สะเด็ดน้ำ จากนั้น นำหัวหอมใหญ่มาหั่นบางๆ นำกระเทียมมาสับให้ละเอียด และนำต้นหอมมาซอย


2. เปิดเตาที่ไฟปานกลาง ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันลงไป รอจนน้ำมันเริ่มร้อน ใส่หัวหอมใหญ่ที่หั่นไว้และกระเทียมสับลงไปผัดจนหอมและหัวหอมใหญ่สุกใส จากนั้นจึงตอกไข่ใส่ลงไป


3. ยีไข่ให้กระจาย ใส่ซีอิ้วขาว (หรือน้ำปลา) ลงไป 1 ช้อนโต๊ะ แล้วรอจนไข่เริ่มสุก จึงค่อยผัดให้เครื่องเข้ากัน


4. บีบน้ำในกระป๋องเนื้อปูออกให้หมด จากนั้นนำเนื้อปูไปใส่ในกระทะ เติมซีอิ้วขาว (หรือน้ำปลา) ที่เหลืออีก 1 ช้อนโต๊ะและน้ำตาลทรายลงไป ผัดให้ทั่ว


5. ใส่ข้าวสวยลงไป เติมน้ำมันหอย จากนั้น ผัดให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากัน


6. ใส่ต้นหอมซอยลงไป ผัดซักพักก็ปิดเตาและยกลงได้


7. ตักข้าวผัดปูใส่จาน ตกแต่งด้วยเครื่องเคียงต่างๆ จากนั้นก็ยกเสิร์ฟได้เลยค่ะ

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี


อุทยานแห่งชาติ น้ำตกเอราวัณ
อุทยานแห่งชาติ อยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ๖๕ กิโลเมตร น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงาม น้ำใสตลอดปีไม่เคยขุ่นถึงแม้จะเป็นช่วงฤดูฝน ต้นน้ำเกิดจากลำห้วยม่องไล่ ไหลผ่านลงมาจากยอดเขาและผาสูง ๒,๑๐๐ เมตร น้ำตกเอราวัณมีความยาว ๑,๕๐๐ เมตร แบ่งเป็น ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเอราวัณ ระยะทาง ๑,๐๖๐ เมตร ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ผ่านป่าดิบเขา จุดชมวิวและป่าผลัดใบที่สวยงาม ท่านจะได้รับความเพลิดเพลินในการชื่นชมธรรมชาติ และได้ความรู้จากป้ายสื่อความหมาย ในบริเวณอุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว

การเดินทาง

รถยนต์ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๙ ( กาญจนบุรี-ศรีสวัสดิ์) เมื่อถึงกิโลเมตรที่ ๕๖ แยกซ้ายข้ามสะพานเข้าตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ตรงไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ถึงลานจอดรถแล้วเดินต่อไปอีก ๕๐๐ เมตร จะถึงตัวน้ำตก

รถ.โดยสารประจำทาง มีรถสายกาญจนบุรี-เอราวัณเบอร์ ๘๑๗๐ ออกจากสถานีขนส่ง ถนนแสงชูโต มายังน้ำตกเอราวัณทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ( ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน ) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ ( นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้ ) และ นางนกเอี้ยง ( กรมพระเทพามาตย์ ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง ) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปีตามขนบประเพณี ของไทยบวชอยู่ 3 พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310 ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์สมบัติกรุงธนบุรีได้ 15 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์มีชนมายุ 48 พรรษา กรุงธนบุรีมีกำหนดอายุกาลได้ 15 ปี

[แก้ไข] ผลงานอันสร้างชื่อของพระเจ้าตากสิน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์มีความสำคัญที่ชาวไทยไม่สามารถจะลืมในพระคุณงามความดีที่ทรงกอบกู้เอกราชเริ่มแต่ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรี เริ่มสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ กำลังทหาร เพื่อเข้าทำการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับ พ.ศ.2310 และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2311 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี




[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๆ
นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านกู้ชาติแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ปราบอริราชศัตรูที่มักจะล่วงล้ำเขนแดนเข้ามาซ้ำเติมไทยยามศึกสงครามอยู่เสมอ จนในสมัยของพระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไพศาล กล่าวคือ

ทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์
ทิศใต้ ได้ดินแดนกะลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจดอาณาเขตญวน
ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี
พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูและสร้างวรรณกรรม นาฏศิลป์ และการละครขึ้นใหม่ แม้ว่าจะมีศึกสงครามตลอดรัชกาล กระนั้นก็ยังทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึง 4 เล่ม สมุดไทย ในปี พ.ศ.2312 นับว่าทรงมีอัจฉริยภาพสูงส่งเป็นอย่างมาก และในรัชสมัยของพระองค์มีกวีที่สมควรได้รับการยกย่อง 2 ท่าน คือ

1.นายสวน มหาดเล็ก ซึ่งแต่งโคลงสี่สุภาพ แต่งขึ้นเพื่อยกพระเกียรติและสรรเสริญ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 85 บท เป็นสำนวนที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่าด้วยเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมาได้ทราบถึงสภาพบ้านเมืองและความเป็นไปในยุคนั้น
2.หลวงสรวิชติ (หน) ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) งานประพันธ์ของท่านเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน เช่น สามก๊ก เป็นต้น
พระเจ้าตากสิน ยังโปรดให้มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การติดต่อการค้ากับต่างประเทศ ในด้านการปกครอง หลังจากสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ทรงจัดวางตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ทรงสอดส่องทุกข์สุขของราษฎร และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดา เจ้าฟ้า พระองค์ฟ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ด้วยความกตัญญูกตเวที
ถวายพระนามมหาราช และการสร้างพระราชอนุสาวรีย์


ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ตามที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระนาม “มหาราช” แด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และรัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สวนเสือศรีราชา


ประวัติความเป็นมา

สวนเสือศรีราชา จัดตั้งขึ้นบนพื้นที่กว่า 250 ไร่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2540 ณ กิโลเมตรที่ 9 เลขที่ 341 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งห่างจากสวนสัตว์เดิมเพียง 1 กิโลเมตร โดยจัดการดำเนินงาน และเตรียมแผนงานอย่างมีมาตราฐาน เพื่อที่จะพัฒนาพันธุ์สัตว์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวทุกคน ซึ่งในปัจจุบันเสือโคร่งพันธุ์ เบงกอล และจระเข้ที่เพาะเลี้ยงโดยสวนเสือศรีราชานั้นมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น มากมาย ซึ่งมีเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล 200 กว่าตัว และจระเข้มีถึง 100,000 กว่าตัว นอกเหนือสัตว์นานาชนิด แล้วสวนเสือศรีราชายังได้มีกิจกรรมการแสดงต่างๆไว้มากมายให้ท่านได้เพลิดเพลินและประทับใจยิ่ง

การแสดงที่สวนเสือศรีราชา


โชว์ละครสัตว์ "อะเมซิ่งเซอคัส" เป็นการแสดงความสามารถของสัตว์ ประกอบด้วยการแสดงของเสือโคร่ง หมี ลิงชิมแพนซี โจ๊กเกอร์โชว์ ชมความสามารถของเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลที่มาโชว์ความสามารถลอดบ่วงไฟ เดินบนสะพานเชือก ทำตามคำสั่งของครูฝึก และอีกหลายความสามารถโชว์แสดงในโรงละครสัตว์ที่สามารถบรรจุนักท่องเที่ยวได้กว่า1,500 คน


โชว์จระเข้ กับความสามารถของผู้หญิงสาวสวย(ไกรทองหญิง) ที่จะมาท้าทาย และจับจระเข้ด้วยมือเปล่า กับโชว์ความสามารถที่น่าตื่นเต้นอีกมากมาย แห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย พบโชว์แสดงวันละหลายรอบ


โชว์ช้าง ชมความสามารถของฝูงช้าง และ ลูกช้างแสนรู้ ที่จะมาแสดงความน่ารัก ความสามารถต่างๆ ที่ชมแล้วจะต้องประทับใจ

สวนสัตว์เขาเขียว


สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นสวนสัตว์เปิดแห่งเดียวในประเทศไทยที่เลี้ยงสัตว์นานาพันธุ์กว่า 300 ชนิด จำนวนมากถึง 8,000 ตัว บนพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี มีบทบาทในการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมเสือนานาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ

ตั้งอยู่เลขที่
หมู่ที่ 7 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โทร. (038) 298-195, (038) 298-189

เวลาทำการ 08.00-18.00 น. ทุกวัน

อัตราค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 50 บาท
นักเรียน 30 บาท
เด็กเล็ก 15 บาท
บริการทั่วไป

รถไฟเล็ก
จักรยานนาวา
ร้านขายของที่ระลึก
ร้านอาหาร
การเดินทาง

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 130 กม. จากถนนสายบางนา-ตราดมีทางแยกที่สามารถเข้าถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้ 3 ทาง
1. ทางตลาดหนองมน ตรงทางแยกเข้าสถานีพัฒนาที่ดินข้างธนาคารกสิกรไทย มาผ่านทางสนามกอล์ฟบางพระถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะทาง 24 กม.
2. ที่ตลาดบางพระ ตรงทางแยกเข้าสนามกอล์ฟบางพระถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียวระยะทางประมาณ 18 กม.
3. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) มีทางแยกเข้ามาถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ระยะทางประมาณ 7 กม.
4. ทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ ตรงข้ามกับวัดเขาพระบาทระยะทางประมาณ 19 กม.
5. ถนนจากปากทางแยกทั้ง 4 แห่ง จนถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นถนนลาดยางตลอดทาง มีป้ายบอกทางเข้าสวนสัตว์เปิดเขาเขียวทุกระยะ



สิ่งที่น่าสนใจ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

กรงนกใหญ่ พบกับนกนานาชนิดนับพันตัวกับชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติบนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ ชมไก่ฟ้าหายากหลายชนิด นกยูงและนกสวยงามจากต่าง ประเทศนานาชนิด

การแสดงความสามารถของสัตว์ เพื่อสาธิตให้น้องๆ ทราบถึงพฤติกรรม ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าในทางนิเวศวิทยา ตลอดจนความสำคัญของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในธรรมชาติ พร้อมให้ผู้ชมได้สัมผัสกับสัตว์อย่างใกล้ชิดและร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับดารานักแสดงดาวเด่นอาทิ ชิมแปนซี มาคอว์ เหยี่ยว นาก ฯลฯ



เวลาการแสดง:
จันทร์-ศุกร์ 11.00 น. 14.00 น. 15.00 น.
เสาร์-อาทิตย์ 11.00 น. 14.00 น. 15.00 น. 16.00 น.

อัตราค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 20 บาท
เด็ก 10 บาท

สวนละมั่ง ละมั่งเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของไทยที่เปิดโอกาสให้คุณได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ปลอดภัย อิ่มใจ กับการให้อาหารด้วยตัวท่านเอง สร้างความสุขได้ทั้งครอบครัว

ไนท์ ซาฟารี เปิดมิติมหัศจรรย์กับการชมพฤติกรรมสัตว์ป่าในเวลากลางคืน นำชมโดยขบวนรถพ่วง (Auto Tram) ที่ทันสมัย ปลอดภัย ท่านจะได้พบสัตว์ป่าต่างๆ เช่น สมเสร็จ วัวแดง ช้าง ม้าลาย ลามา ยีราฟ นกอีมู ฯลฯ เป็นระยะทางราว 3.5 กม.

ศูนย์เสือ ตื่นตาตื่นใจไปกับ “หุบเสือป่า” สถานที่จัดแสดงพันธุ์แมวป่าแบบจำลองทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

วัดห้วยมงคล


ประวัติหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
หลวงพ่อทวด หรือ สมเด็จพะโค๊ะ มีนามเดิมว่าปู เป็นบุตรนายหู นางจัน วัน เดือน ปี เกิดของเด็กชายปู บ้างว่าเป็นเดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. 2125 บ้างว่าปี พ.ศ. 990 ฉลู สัมฤทธิศก บ้างว่า พ.ศ. 2131 โดยอนุมาน เข้าใจว่าคงเป็นปลายสมัยมหาธรรมราชา อาจเป็นปี พ.ศ. 2125 หือ 2131 ตอนเด็กชายปูยังเป็นทารก มีเรื่องเล่าเป็นปฏิหาริย์เอาไว้ว่าหลังจากนางจันเลิกอยู่ไฟก็ออกเกี่ยวข้าวทันที วันหนึ่งนางไปเก็บข้าวก็เอาบุตรให้นอนในเปลใต้ต้นหว้างูบองสลาขึ้นมานอนบนเปลนั้น มารดา บิดาเห็นตกใจ งูก็เลื้อยหายไป แต่ได้คายแก้ววิเศษเอาไว้ให้ เมื่อเด็กชายปูอายุได้ 7 ขวบ บิดาได้นำไปฝากกับท่านสมภารจวงซึ่งเป็นพี่ชายของนางจันผู้เป็นมารดา (หลวงลุง) วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ เด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมากสามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 10 ขวบ ก็บวชเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษให้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมากมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ต่อมาก็ได้เข้ารับการอุปสมบท มีฉายาว่า “ราโมธมฺมิโก” แต่คนทั่วไปเรียกว่า “เจ้าสามีราม” เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆอีกหลายวัด
เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอ จึงได้ขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพรเกิดคลื่นลมทะเลปั่นป่วนเรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ ต้องทอดสมออยู่ถึง 7 วัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมด บรรดาลูกเรือจึงตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดอาเพศในครั้งนี้เป็นเพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะ ได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาดขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้นท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในน้ำทะเล ก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วงเจ้าสามีราม จึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืดจึงช่วงกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นเจ้าสามีรามเป็นชีต้น หรืออาจารย์ของเจ้าสำเภาอิน สืบมา

อภินิหารที่ท่านสามีรามเหยียบน้ำทะเลจืดเป็นที่โจษขานมาถึงบัดนี้และเหตุการณ์ตอนนี้เล่าเสริมพิสดารขึ้นว่า ตอนแรกนายอินเชื่อมั่นว่าพระสามีรามเป็นกาลกิณีเรือจึงต้องพายุเพราะก่อนมาไม่เคยเป็น เมื่อคลื่นลมสงบจึงคิดจะเอาเจ้าสามีรามปล่อยเกาะ แต่ครั้นเห็นปาฏิหาริย์จึงขอขมาโทษ

ในยุคนี้และสมัยนี้ เกือบจะไม่มีชาวไทยคนใดเลย ที่จะไม่เคยได้ยินชื่อหรือได้ฟังกิติศัพท์เล่าลือเกี่ยวกับ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ความศักดิ์สิทธิ์อันนี้ บ้างก็เป็นเรื่องของความคลาดแคล้วจากอุบัติเหตุสยองจากไฟไหม้หรือจากภัยพิบัติ นานัปการ และหลวงพ่อทวดมิใช่จะคุ้มครองเฉพาะด้านอุบัติเหตุเท่านั้น แม้แต่ในทางโชคลาภ ก็ให้ผลอย่างดีที่สุด ดังที่ได้ประจักษ์แก่ผู้เลื่อมใสมาแล้ว

วัดห้วยมงคล เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เดิมใช้ชื่อว่า “วัดห้วยคต” ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านห้วยคต ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามใหม่จากห้วยคต เป็นห้วยมงคล ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทั้งชื่อหมู่บ้าน วัด โรงเรียน และโครงการต่างๆ อีกมากมาย

กว่าสี่สิบปีแล้วที่หมู่บ้านห้วยมงคล เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเยี่ยมประชาชนด้วยโครงการต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพสกนิกรให้มีฐานะดีขึ้น ประชาชนมีสุขกันทั่วหน้าและโครงการต่างๆ ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะมีส่วนราชการให้การดูแล รวมทั้งทรงอุปถัมภ์วัดห้วยมงคลไว้ให้เป็นที่พึ่งทางใจสำหรับชาวบ้าน
ต่อมาพระครูปภัสรวรพินิจ หรือพระอาจารย์ไพโรจน์ ปภัสสโร เจ้าอาวาสวัดห้วยมงคลองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาที่มีศีลจารวัตที่ดีงามเป็นที่เคารพของคนในชุมชนบ้านห้วยมงคล และพลเอกวิเศษ คงอุทัยกุลรองสมุหราชองครักษ์ได้มีดำริที่จะสร้าง “หลวงพ่อทวด” องค์ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ รวมทั้งเผยแพร่และสืบทอดพระพุทธศาสนาอีกทั้งให้เป็นที่เคารพสักการบูชาและเป็นที่พึ่งทางใจของเหล่าพุทธศาสนิกชน

ด้วยเรื่องราวปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) ที่พุทธศาสนิกชนในภาคใต้ให้ความเคารพเลื่อมใสมาเป็นเวลานาน และรู้จักกันเป็นอย่างดี จึงก่อเกิดการร่วมมือร่วมใจจากหลายองค์กรทั้งทางภาครัฐและเอกชนในการสร้างประติมากรรมองค์จำลองหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกาลนี้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เททองหล่อองค์หลวงพ่อทวด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 และพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการจัดสร้างอันเชิญพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. ขึ้นประดิษฐานที่หน้าองค์รูปหล่อองค์หลวงพ่อทวด

บัดนี้รูปหล่อหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งหล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 9.9 เมตร สูง 11.5 เมตร บนฐานสูง 3 ชั้น ชั้นล่างกว้าง 70 เมตร ยาว 70 เมตร ได้จัดสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย พร้อมที่จะให้พุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศได้เดินทางมานมัสการกราบไหว้ เคารพสักการะ ด้วยเส้นทางที่สะดวกต่อการคมนาคม

นอกจากนี้ที่วัดห้วยมงคลแห่งนี้ยังมีหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดแกละสลักจากได้ตะเคียนทองขนาดใหญ่อายุกว่าพันปี ที่ฝังอยู่ในทรายใต้แม่น้ำยม จังหวัดแพร่ลึกกว่า 10 เมตร ชาวบ้านเชื่อกันว่าต้นไม้ที่มีแก่นสูง 1 คืบขึ้นไปจะมีรุกขเทวดาสถิตอยู่เพื่อดูแลปกป้องคุ้มครองคนที่มาสักการบูชา เมื่อนำต้นตะเคียนทองมาทำรูปเคารพ เช่นแกะเป็นหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดจึงมีอนุภาพและความศักดิ์สิทธิ์เป็นทวีสิทธิ์ ดลบันดาลให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

เรือสำเภา


เรือสำเภา (Junk) เป็นเรือที่มีลักษณะ ท้ายเรือสูงและยื่นออกไป หัวเรือต่ำ มีจุดเด่นที่ใช้ใบแขวนชนิดที่มีพรวนใบ (ก้างใบ) ซึ่งมีลักษณะคล้ายพัดขนาดใหญ่ ใบแขวนแบบจีนนี้มีใช้กับเรือต่าง ๆ หลายชนิดในแถบเอเชียอาคเนย์ แต่บางเรือสำเภาบางลำที่มีการติดเครื่องยนต์จะไม่ใช้ใบ ส่วนเรืออื่น ๆ ใช้ใบแขวนชนิดตั้ง (ขอบล่างของใบข้างหนึ่งผูกยึดกับโคนเสา)

ประวัติบุคคลสำคัญ


ครูมนตรี ตราโมท


อาจารย์มนตรี ตราโมท เดิมชื่อ บุญธรรม ตราโมท เกิดวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายยิ้ม และนางทองอยู่ เมื่อ พ.ศ. 2475 สมรสกับนางสาวลิ้นจี่ (บุรานนท์) มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ 2 คน คือ นายฤทธี และนายศิลปี ต่อมาเมื่อนางลิ้นจี่ ถึงแก่กรรมจึงแต่งงานกับนางสาวพูนทรัพย์ (นาฏประเสริฐ) มีบุตร 2 คน คือ นางสาวดนตรี และนายญาณี
ความสามารถและผลงาน
อาจารย์มนตรี ตราโมท เริ่มการศึกษา โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี (ปรีชาพิทยากร) สอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภายหลังไปเรียนต่อที่โรงเรียนพรานหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
อาจารย์มนตรี สนใจดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้วัดสุวรรณภูมิ ซึ่งที่วัดนี้มีวงปี่พาทย์และมีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ จึงได้ยินเสียงเพลงจากวงปี่พาทย์อยู่เป็นประจำ จนในที่สุดได้รู้จักกับนักดนตรีในวงและขอเข้าไปเล่นด้วย เมื่อมีการบรรเลงก็มักจะไปช่วยตีฆ้องเล็กหรือทุ้มเหล็กด้วยเสมอ
เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 อาจารย์มนตรีตั้งใจจะมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แต่บังเอญเจ็บกระเสาะกระแสะเรื่อยมา จึงไม่ได้เรียนต่อ ครูสมบุญ นักฆ้องซึ่งเป็นครูปี่พาทย์ประจำวงที่วัดสุวรรณภูมิ ชวนให้มาหัดปี่พาทย์ จึงได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมาประมาณ 2 ปี และได้เป็นนักดนตรีประจำวงปี่พาทย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ต่อมา ได้ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านปี่พาทย์ที่จังหวัดสมุทรสาคร ราว พ.ศ. 2456 ที่บ้านครูสมบุญ สมสุวรรณ ที่บ้านนี้มีวงปี่พาทย์และแตรวง อาจารย์มนตรีจึงได้ฝึกทั้ง 2 อย่างคือ ด้านปี่พาทย์ ฝึกระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่ ด้านแตรวง ฝึกเป่าคลาริเน็ต นอกจากนี้ครูสมบุญยังได้แนะวิธีแต่งเพลงให้ด้วย
ในปี พ.ศ. 2460 อาจารย์มนตรี ได้เข้ามาสมัครรับราชการในกรมพิณพาทย์หลวง ซึ่งมีพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นเจ้ากรม ขณะที่ทำงานอยู่ก็ได้เรียนโรงเรียนพรานหลวงด้วยจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6
อาจารย์มนตรี ได้รับเลือกเป็นนักดนตรีประจำวงข้าหลวงเดิม เป็นวงที่จะต้องตามเสด็จทุกๆแห่ง โดยพระยาประสานดุริยศัพท์จะเป็นผู้ควบคุมทุกครั้ง อาจารย์มนตรี เริ่มแต่งเพลงเมื่ออายุ 20 ปี เพลงแรกที่แต่ง คือ เพลงต้อยติ่ง 3 ชั้น เมื่อ พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวน แพทย์ถวายการแนะนำให้ทรงฟังนิทานหรือดนตรีเบา ประกอบกับเสวยพระโอสถ กรมมหรสพจึงจัดวงเครื่องสายเบาๆ บรรเลงถวาย วงเครื่องสายนี้ได้เพิ่มขิมขึ้น อาจารย์มนตรีได้รับหน้าที่เป็นผู้ตีขิม ในวังหลวงเป็นคนแรก บรรเลงถวายทุกวันจนพระอาการหายเป็นปกติ

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน


เหตุการณ์และบทบาทของชาวบ้านบางระจัน เกิดขึ้นเมื่อพม่ายกทัพทั้งทัพบกและทัพเรือมาตี

กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2306 ในระหว่างนั้น หัวเมืองทั้งใต้และเหนือของไทยเสียแก่พม่าไปหลายเมือง

คนไทยที่ได้รับความเดือนร้อนต้องพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้น มีคนไทย
กลุ่มหนึ่งคิดต่อสู้กับพม่า บอกข่าวชักชวนชาวบ้าน นัดแนะทำกลลวงพม่าแล้วฆ่าพม่าไปจำนวนไม่น้อย
จากนั้นกลุ่มคนไทยดังกล่าวได้พากันหลบหนีพม่าไปหาพระอาจารย์ธรรมโชติ ที่วัดเขาเดิมบาง

นางบวช พระอาจารย์ผู้นี้มีวิชาอาคมเป็นที่ยกย่องนับถือของชาวบ้าน กลุ่มคนไทยจึงได้นิมนต์ให้ไปอยู่

ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ในขณะนั้นมีราษฎรชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวเมืองสิงห์และเมืองสรรค์ พากัันหลบหนี

พม่ามาชุมนุมกันในหมู่บ้านบางระจันกันมากมาย ด้วยหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิที่ดีี่ยากที่พม่าจะยกทัพเข้ามาตี
ทั้งยังมีเสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มคนไทยพากันหลบหนีมาชุมนุมกันที่นี้ โดยมีพรรคพวกที่
เป็นชาวบ้านติดตามมาอยู่ด้วย ชาวบ้านบางระจันได้ร่วมมือกันสร้างค่ายขึ้นล้อมรอบหมู่บ้าน จัดกำลังคน

เป็นหมวดหมู่ทำหน้าที่รักษาค่าย เตรียมหาอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรู วางกองสอดแนมคอยสืบข่าวความ

เคลื่อนไหวของฝ่ายพม่า

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดใหญ่ชัยมงคล


วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อวัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย

ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล[1]
[แก้] สมัยกรุงศรีอยุธยา
ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อไร แต่คาดว่าประมาณ พ.ศ. 2443 เป็นที่พำนักของพระภิกษุคณะป่าแก้ว ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัตน์เป็นประธานสงฆ์ จึงได้ชื่อว่า วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว

สันนิษฐานว่าเป็นที่กระทำการเสี่ยงเทียน ในคราวก่อนที่พระเฑียรราชาจะทรงปราบดาภิเษก ยึดอำนาจจากขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์

ในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่พำนักของ สมเด็จพระวันรัตน์ ผู้เป็นพระเถระที่สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ความเคารพ ในคราวที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะพระมหาอุปราชของหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระพิโรธต่อบรรดาแม่ทัพนายกองที่ตามทัพไม่ทัน ทรงดำริจะลงพระราชอาญาประหารชีวิต แต่สมเด็จพระวันรัตน์ได้ทูลขอพระราชทานชีวิตของแม่ทัพนายกองเหล่านั้นไว้ โดยยกเอาพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องผจญมารอยู่โดยลำพัง เปรียบเสมือนกับสมเด็จพระนเรศวรที่ต้องทรงกระทำยุทธหัตถีโดยลำพัง และได้ทูลแนะนำให้ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นแทนการประหารชีวิต สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นด้วยและทรงให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้น ชื่อว่าพระเจดีย์ชัยมงคลประมาณ พ.ศ. 2135 มีความสูง 1 เส้น 1 วา เป็นเจดีย์ ที่สูงที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาจนทุกวันนี้

วัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท ต้องร้างลงเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2309 หงสาวดีได้ยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้า ให้ยกทัพเรือออกจากพระนคร ไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว แต่ทัพเรือสยามเสียทีข้าศึก พระยาเพชรบุรีถูกสังหาร กองทัพหงสาวดีบางส่วนได้ยึดเอาวัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท เป็นฐานปฏิบัติการ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 วัดแห่งนี้จึงได้ร้างลง

[แก้] ยุคฟื้นฟู
หลังจากที่วัดใหญ่ หรือ วัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท ได้ร้างลงกว่า 400 ปี ได้มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี กลุ่มหนึ่ง โดยการนำของพระฉลวย สุธมฺโมได้เข้ามาหักร้างถางพงที่รกเรื้อปกปิดอารามอันเก่าแก่แห่งนี้เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ 4 ปี ท่านต้องการออกจาริกอีกครั้งจึงได้ไปนิมนต์พระครูภาวนาพิริยคุณ เจ้าอาวาส วัดยม อำเภอบางบาล ให้มาดูแลวัดใหญ่ชัยมงคลต่อ

พระครูภาวนาพิริยคุณ (เปลื้อง วิสฏฺโฐ) ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี หักร้างถางพง ฟื้นฟูวัดแห่งนี้จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดราษฎร์ที่มีพระภิกษุจำพรรษา ในปี พ.ศ. 2500 โดยได้ชื่อว่าวัดใหญ่ชัยมงคล ส่วนพระครูภาวนาพิริยคุณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี

[แก้] ยุคปัจจุบัน
หลังจากที่พระครูภาวนารังสีได้มรณภาพในปี พ.ศ. 2536 พระปลัดแก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน หรือปัจจุบันเป็นพระครูพิสุทธิ์บุญสาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี พัฒนาวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ,วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น, และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งที่ 3 ตามลำดับ

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดไร่ขิง


วัดไร่ขิง ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างโดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์(พุก )" มีหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือ ระหว่างวันขึ้น13คำ ถึงแรม 3คำ เดือน5 และช่วงเทศการตรุษจีนทุกปี จะมีงานเทศกาลนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงประจำปี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชาวนครปฐม เดิมเป็นวัดราษฏร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533

คนรุ่นเก่าได้เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดไร่ขิงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2394 โดยพระธรรมราชานุวัตร (พุก) ชาวเมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี (ต่อมา ท่านได้รับสถาปนาสมศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก)) ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร ท่านได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย ซึ่งเป็นบ้านโยมบิดาและมารดาของท่าน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) มรณภาพเมื่อปี วอก พ.ศ. 2427 รวมสิริอายุ 91 ปี พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2428 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุพิเศษวัดศาลาปูน ดังนั้น งานทุกอย่างจึงตกเป็นภาระของพระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ซึ่งเป็นหลานชายของท่าน” [1] แต่ไม่ทราบว่าท่านกลับมาปฏิสังขรณ์วัดเมื่อใดหรือท่านอาจจะมาในปี พ.ศ. 2453 ตอนที่ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตรก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ 75 ปี และเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ต่อจากสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) อย่างไรก็ตาม ในการปฏิสังขรณ์วัดไร่ขิงในสมัยท่านอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2427 หรือ 2453 เป็นต้นมา

สำหรับชื่อวัดนั้น มีเรื่องเล่าว่า พื้นที่วัดในอดีตมีชาวจีนปลูกบ้านอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมากและนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนในแถบนี้ว่า “ไร่ขิง” ต่อมา เมื่อมีชุมชนหนาแน่นมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ดังนั้น วัดจึงได้ชื่อตามชื่อของหมู่บ้านหรือชุมชนว่า “วัดไร่ขิง”

ในราวปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน สมเด็จฯ ได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง และทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” ทั้งทรงใส่วงเล็บชื่อเดิมต่อท้ายจึงกลายเป็น “วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง)” เมื่อเวลาผ่านพ้นมานานและคงเป็นเพราะความกร่อนของภาษาจีนทำให้วงเล็บหายไป คงเหลือเพียงคำว่า “ไร่ขิง” ต่อท้ายคำว่า “มงคลจินดาราม” จึงต้องเขียนว่า “วัดมงคลจินดาราม-ไร่ขิง” แต่ในทางราชการยังคงใช้ชื่อเดิมเพียงว่า “วัดไร่ขิง” สืบมาจนทุกวันนี้

[แก้] หลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่บนฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น เบื้องหน้าผ้าทิพย์ปูทอดลงมาองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในอุโบสถ หันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) ซึ่งหน้าวัดมีแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน จากหนังสือประวัติของวัดไร่ขิงได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญมาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำด้วยการทำแพไม้ไผ่หรือที่เรียกกันว่าแพลูกบวบรองรับองค์พระปฏิมากรณ์ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดีจึงมีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมกัน ในขณะที่อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นจากแพ สู่ปะรำพิธีได้เกิดอัศจรรย์แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์ก็บังเกิดมีเมฆดำมืดทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนอง และบันดาลให้มีฝนโปรยลงมาทำให้เกิดความเย็นฉ่ำและเกิดความปิติ ยินดีกันโดยทั่วหน้า ประชาชนที่มาต่างก็พากันตั้งจิตรอธิฐานเป็นหนึ่งเดียวกัน ว่า “หลวงพ่อจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนร้ายคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหารฉะนั้น” ดังนั้น วันดังกล่าวที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย ทางวัดจึงได้ถือเป็นวันสำคัญ และได้จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปีหลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ตำนานหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา หรือที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีหลายตำนาน ดังนี้

ตำนานที่ 1 ครั้งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก)ชาวเมืองนครชัยศรี ได้มาตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน ได้เข้าไปในพระอุโบสถวัดไร่ขิง หลังจากกราบพระประธานแล้ว มีความเห็นว่าพระประธานมีขนาดเล็กเกินไป จึงบอกให้ท่านเจ้าอาวาสพร้อมชาวบ้านไปอัญเชิญมาจากวัดศาลาปูนฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวางลงบนแบบไม้ไผ่และนำล่องมาตามลำน้ำและอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วันสงกรานต์พอดี
ตำนานที่ 2 วัดไร่ขิงสร้างเมื่อปีกุน พุทธศักราช 2394 ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 3 ต้นปี ในรัชการที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก)ซึ่งเป็นชาวเมืองนครชัยศรี ในขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ "พระธรรมราชานุวัตร" ปกครองอยู่ที่วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กลับมาสร้างวัดที่บ้านเกิดของตนที่ไร่ขิง เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป
สำคัญองค์หนึ่งจากกรุงเก่า ( จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ) มาเพื่อประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแต่การสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ท่านได้มรณภาพเสียก่อน ส่วนงานที่เหลืออยู่พระธรรมราชานุวัตร(อาจ จนฺทโชโต) หลานชายของท่านจึงดำเนินงานต่อจนเรียบร้อย และบูรณะดูแลมาโดยตลอดจนถึงแก่มรณภาพ

ตำนานที่ 3 ตามตำนานเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับมีพระพุทธรูปลอยน้ำมา 5 องค์ก็มี 3 องค์ก็มีโดยเฉพาะในเรื่องที่เล่าว่ามี 5 องค์นั้น ตรงกับคำว่า " ปัญจภาคี ปาฏิหาริยกสินธุ์โน " ซึ่งได้มีการเล่าเป็นนิทานว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมากได้พร้อมใจกันตั้งสัตย์อธิฐานว่า เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ แม้จะตายไปแล้ว ก็จะขอสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้ได้พ้นทุกข์ต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพานครั้งพระอริยบุคคลทั้ง 5 องค์ ได้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าไปสถิตในพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์จะมีความปรารถนาที่จะช่วยคนทางเมืองใต้ที่อยู่ติดแม่น้ำให้ได้พ้นทุกข์ จึงได้พากันลอยน้ำลงมาตามลำน้ำทั้ง 5 สาย เมื่อชาวบ้านตามเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำเห็นเข้า จึงได้อัญเชิญและประดิษฐานไว้ตามวัดต่างๆ มีดังนี้
พระพุทธรูปองค์ที่ 1 ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นสถิตที่วัดโสธรวรวิหาร เมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกกันว่า "หลวงพ่อโสธร"
พระพุทธรูปองค์ที่ 2 ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน)ขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิงเมืองนครชัยศรี เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง"
พระพุทธรูปองค์ที่ 3 ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสถิตที่วัดบางพลี เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดบางพลี" แต่บางตำนานก็ว่า หลวงพ่อวัดบางพลีเป็นองค์แรกในจำนวน 5 องค์ จึงเรียกว่า "หลวงพ่อโตวัดบางพลี "
พระพุทธรูปองค์ที่ 4 ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม"
พระพุทธรูปองค์ที่ 5 ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"
ส่วนตำนานของเมืองนครปฐมนั้นเล่าว่า มีพระ 3 องค์ ลอยน้ำมาพร้อมกัน และแสดงปาฏิหาริย์จะเข้าไปยังบ้านศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ จึงได้เรียกตำบลนั้นว่า "บางพระ" พระพุทธรูป 3 องค์ลอยไปจนถึงปากน้ำท่าจีนแล้วกลับลอยทวนน้ำขึ้นมาใหม่ จึงเรียกตำบลนั้นว่า "สามประทวน" หรือ "สัมปทวน" แต่เนื่องจากตำบลที่ชาวบ้านพากันไปชักพระขึ้นฝั่งเพื่อขึ้นประดิษฐาน ณ หมู่บ้านของตน แต่ทำไม่สำเร็จ ต้องเปียกฝนและตากแดดตากลมจึงได้ชื่อว่า "บ้านลานตากฟ้า" และ "บ้านตากแดด" ในที่สุดพระพุทธรูปองค์แรกจึงยอมสถิต ณ วัดไร่ขิงเรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ส่วนองค์ที่ 2 ลอยน้ำไปแล้วสถิตขึ้นที่วัดบ้านแหลมจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" และองค์ที่ 3 ลอยตามน้ำไปตามจังหวัดเพชรบุรี แล้วขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"